วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คำว่า ครู

 คำว่า "ครู"หมายถึง


             ครู คือผู้เป็นที่พึ่ง ในตำบลหมู่บ้านในชนบท เมื่อชาวบ้านมีปัญหาอะไร ก็มักจะไปหาครู ไปถาม ไปขอให้ ช่วยตัดสิน ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะเขามีความมั่นใจว่า ครูเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ พร้อมด้วย ความเมตตากรุณา ยินดีที่จะช่วยเหลือแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นที่พึ่ง ซึ่งจะให้คำปรึกษาหารือ แก่เขาได้ นี่เป็นเกียรติของครูที่ควรแก่การภาคภูมิใจ
ครูคือผู้เปิดประตูคอก เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านใช้คำพูดว่า ครูเป็นผู้เปิดประตูคอก ที่ขังสัตว์ ไว้ในความมืด ให้ได้ออกไปสู่แสงสว่าง หรือเป็นผู้เปิดประตูคุกแห่งอวิชชา ให้สัตว์ออกมา เสียจากความโง่เขลา

             ครู  คือผู้ฝึก นอกจากนั้นท่านยังเห็นว่า ครูคือผู้ฝึก เป็นดังสารถีผู้ฝึกสัตว์ให้เชื่อง เหมือนอย่างนายสารถี ผู้ขับรถม้าหรือเกวียน ครูจึงต้องเป็นผู้มี ความเมตตาปรานี ไม่ใช้อำนาจดึงดันเอาแต่ใจของตัว เพราะการฝึกโดยการฟาดฟันลงไปด้วยแส้ ด้วยไม้ ด้วยตะขอสับนั้น ก็แน่นอนที่สุดว่า ย่อมจะไม่ได้รับ ความรัก ความจงรักภักดีจากสัตว์ที่ตนฝึก มันยอมให้ก็เพราะกลัว สบโอกาสเมื่อใดก็ต่อต้าน
ครูคือผู้ให้แสงสว่าง ให้ความรู้แก่ศิษย์อย่างทั่วถึง ทั้งวิชาการทางโลก และวิชชาอันเป็นปัญญา
ด้านในครูจึงต้องศึกษา ฝึกฝน อบรมตนเองให้พร้อมทั้งวิชาและวิชชา วิชานั้นเรียนรู้จาก ตำรา ครูอาจารย์ และ ประสบการณ์ได้ แต่วิชชาจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการศึกษาด้านใน ด้วยการหมั่นมองดู ใคร่ครวญ ถึงสิ่งอันเป็นสัจธรรมกฎธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนควรรู้คือ "ประกอบเหตุอย่างใด ผลอย่างนั้น" ถ้าเห็นความจริงข้อนี้ เมื่อมีปัญหา เกิดขึ้นก็จะมีปัญญาพิจารณา รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และเมื่อได้ประกอบเหตุปัจจัยในส่วนของเรา อย่างเต็มความสามารถ แล้วก็สบายใจ ภาคภูมิใจได้ ส่วนผล จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบอีก
หากสามารถรักษาความเป็นปกติของจิตไว้ได้อย่างนี้ พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะไม่ไปเที่ยวโทษคนนั้น คนนี้ สิ่งโน้นสิ่งนี้ เกิดสัมมาทิฏฐิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

             ครูคือผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่จะนำพาศิษย์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยการพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มีความคิด ความเห็นที่ถูกตรง อันจะนำไปสู่การคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ท่านอาจารย์ สวนโมกข์ ท่านกล่าวว่า

             คนมีบุญคือคนที่เกิดในตระกูลที่มีสัมมาทิฏฐิ ในสายตาของคนทั่วไป คนมีบุญ คือคนมีหน้ามีตา มีทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ พร้อมมูลในเรื่องของวัตถุ แต่สิ่งเหล่านี้คงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไปไหม? เราก็คงเคยเห็น หลายครอบครัว หลายตระกูล ที่ดูเหมือนว่าทรัพย์สินที่มี กินใช้ไปเป็นร้อยปีก็ไม่หมด แต่แล้วก็ต้องสูญสิ้น ล้มละลายไป นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะ ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักรักษา ไม่รู้จักกำจัดสิ่งที่จะมาบ่อนทำลาย แต่ครอบครัว ที่มีสัมมาทิฏฐินั้น แม้บ้านช่อง อาจจะไม่โอ่โถงใหญ่โต พ่อแม่ไม่ได้มี อำนาจวาสนาอะไรมากมาย แต่เป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง เลี้ยงดูครอบครัว ให้ลูกได้มีการศึกษาเล่าเรียน ตามควรแก่ฐานะ อบรมสั่งสอน ให้ลูกเป็นคนดี ครอบครัวก็อยู่เป็นสุข

             ฉะนั้น ความเป็นครูจึงเป็นของหนัก ครูที่แท้จริงจึงเป็นผู้ควรแก่การเคารพสักการะ ควรแก่การบูชา เป็น ปูชนียบุคคล ผู้เป็นที่พึ่ง และผู้นำ ทางจิตวิญญาณแก่สังคม

คุณสมบัติของผู้เป็นครู
ครูควรมีคุณสมบัติอย่างไร

๑. มีความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง คือเมตตากรุณาโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่คิดทวงคืนจากศิษย์ กระทำอย่าง ไม่ขาดตอนและไม่ลดละ ทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องควรทำ ให้เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ ควรให้ ไม่ว่าจิตใจของครู ในขณะนั้น จะเป็นอย่างไร บ่อของความเมตตา กรุณา ในใจของครู ยังมั่นคง เต็มเปี่ยม พร้อมที่จะเผื่อแผ่ไหลหลั่ง เจือจานลูกศิษย์ได้เสมอ

๒. มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์ตลอดชีวิต กัลยาณมิตร แปลตามตัวก็คือ เพื่อนที่ดี สมเด็จ พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ท่านรับสั่งเสมอว่า ผู้ใด มีพระองค์ท่าน เป็นกัลยาณมิตร ผู้นั้นจะมีชีวิตรอด ความรอดนั้นคือรอดจากความทุกข์ รอดจากสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ว่าศิษย์จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำงานการมีตำแหน่งหน้าที่อย่างใด ครูก็ยังห่วงใยติดตาม ด้วยความหวังดี ไม่ว่าศิษย์ จะเป็นคนอย่างไร จะไปประกอบอาชีพใด มีชีวิตหักเหอย่างไร ถ้าได้ทราบว่า ลูกศิษย์ไปตกอยู่ในอันตราย หรือตกอยู่ในความเขลา หรือกำลัง คิดจะทำอะไรที่ผิด ครูซึ่งเป็น กัลยาณมิตร ของศิษย์ จะให้คำแนะนำ ตักเตือน ว่ากล่าว แต่หากลูกศิษย์ไปดี เจริญก้าวหน้า ทำตน เป็นประโยชน์แก่สังคม ครูก็อนุโมทนา ชื่นชมยินดี แม้ลูกศิษย์ จะไม่ทราบ แต่ครูก็ชื่นใจ และมีสิทธิ ที่จะรู้สึกเช่นนั้นได้

๓. มีความซื่อตรงต่ออุดมคติของความเป็นครู ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชน บางครั้งก็เกิดความหวั่นไหว เพลี่ยงพล้ำ ศรัทธาที่มีต่ออุดมคติ ที่ตั้งไว้ก็คลอนแคลนไปบ้าง เพราะเหตุปัจจัยบางอย่างชวนให้ท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย สิ้นหวัง หมดกำลังใจ แต่ครูต้องมีเจตนารมณ์ ที่แน่วแน่ ในการมุ่งสร้างสังคม สร้างชาติ บ้านเมือง ด้วยการสร้างเด็กให้เป็นพลเมืองดี ผลพลอยได้ก็คือการสร้างโลกให้น่าอยู่ หากครูสิ้นหวัง เสียอาชีพเดียว โลกจะล้มละลาย สภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ทุก- วันนี้ ก็เพราะความอ่อนแอของครู บางส่วน ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่เข้มแข็งพอ

๔. อดทนและเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ผู้เป็นครูไม่สามารถปฏิเสธการร่วมรับผิดชอบในความเสื่อมหรือ ความเจริญ ของสังคม ที่เกี่ยวข้องได้ เราปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าสภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ผลิตผลของการศึกษา และเราพอใจแล้วหรือยัง แม้จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และมีภาระส่วนตัว มากเพียงใด ครูก็ยังคงต้องเป็นผู้เสียสละ เห็นแก่ธรรมะ และความถูกต้องของสังคม

๕. เป็นเสมือนประภาคารหรือดวงประทีปของศิษย์ ครูเป็นผู้อบรมพัฒนาจิตของศิษย์ให้มีสติปัญญา อันถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ ในทางธรรม ท่านเปรียบความสำคัญของสัมมาทิฏฐิว่า เป็นเสมือนเข็มทิศ แผนที่ รุ่งอรุณ หรือดวงประทีปส่องทาง เพราะสติปัญญา ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จะช่วยไม่ให้ชีวิตนั้น หลงทาง จะรู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง แม้มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น ก็แก้ไขได้ด้วยสติปัญญา

๖. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ครูต้องสามารถกระทำได้อย่างที่สอนศิษย์ ใครจะทำอย่างไรก็ช่างเขา แต่ผู้เป็นครู จะต้องมีจุดยืน ให้เห็นว่า นี่คือความถูกต้อง ถ้าลูกศิษย์ ไปประสบปัญหาชีวิต แล้วกลับมา หาครูเพื่อขอคำปรึกษา ครูต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ต้องชี้ให้ลูกศิษย์เห็น และกลับไปสู้ใหม่ ด้วยความถูกต้อง โดยธรรม นี่คือวิธีที่เราจะยกฐานะของสังคมให้เป็นโลกของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียง โลกของคน

หน้าที่ของครูต่อสังคม
                หน้าที่โดยตรงของครูคือการสั่งสอนอบรมให้เด็กมีความรอบรู้ ความรู้ในวิชาการทางโลกนั้น เห็นจะ ไม่จำเป็น ต้องพูดกันในที่นี้ แต่ความรู้ ที่จะทำให้เขารู้จัก ที่จะพัฒนาจิต รักษาจิต สร้างสรรค์จิต ให้อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ เพื่อเวลาที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง ไม่ได้เป็น แต่เพียง อายุ ความรู้อย่างนี้เป็นสิ่งที่ครูควรจะได้ศึกษาและนำมาถ่ายทอดแก่เด็กเมื่อเรามองไปรอบๆ ตัวก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากคน ที่เป็นผู้ใหญ่ แต่อายุ จิตใจยังไม่ได้ รับการพัฒนา ทำไมจึงไม่ได้รับ การพัฒนา ทั้งๆ ที่มีวิชาความรู้ จบปริญญาตรี โท เอก กันมาตั้งมากมาย ก็เพราะจิต ที่เรียกว่า spiritual growth ยังไม่เกิดขึ้นspiritual growth คือ การพัฒนาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดให้เป็นไปอย่างถูกต้อง พ่อแม่เอาลูกมาฝากครู ก็หวังพึ่ง ตรงนี้ หวังว่าครูจะช่วยอบรมสั่งสอน กล่อมเกลาให้ลูกของเขา เปลี่ยนจิตที่คิดผิดให้คิดถูก จากจิตเกเรเป็นจิตที่เรียบร้อย จิตหยาบเป็นจิตประณีต จิตที่เคยกระด้าง ก็อยากให้เป็นจิต ที่อ่อนโยน นี่คือสิ่งที่บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม หวังว่าจะได้รับจากครูเมื่อพูดถึงคำว่า "ครู" ก็มีอีกคำหนึ่งแทรกขึ้นมา คือคำว่า "อาจารย์" สังเกตดูโดยทั่วไป ผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ มักจะยินดี กับคำว่าอาจารย์ มากกว่าคำว่าครู หากถูกเรียกว่าครู แทนที่จะเรียกว่าอาจารย์ ก็จะมีความรู้สึก ต่ำต้อยน้อยหน้าขึ้นมาในใจ คำว่าครูจึงกลายเป็นคำเล็กๆ ไปเสียแล้ว เป็นคำที่ไม่มี ความหมายยิ่งใหญ่ เหมือนคำว่าอาจารย์ จนทำให้ความหมายของความเป็นครูเลอะเลือนไป ผู้ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ยังไม่เข้มแข็ง มั่นคง ก็เกิดอาการตะเกียกตะกาย จะต้องเป็น อาจารย์ให้ได้ แล้วก็จะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เปลี่ยนจากครูมาเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่หน้าที่ในอาชีพนั้น หาได้แตกต่าง หรือเปลี่ยนแปลงไปไม่ บ้างก็ไปเข้าใจกันว่าอาจารย์เป็นผู้มีวิทยฐานะสูงกว่า มีลักษณะเป็นนักวิชาการมากกว่า และมีอัตราเงินเดือน สูงกว่าดิฉันเป็นครูตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เรียกว่าอายุน้อยมากในสมัยนั้น ยังมีความเป็นเด็กอยู่มาก ยังอยู่ในวัยรุ่น ที่ชอบ สนุกสนาน ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบเล่น แต่พอเข้ามาเป็นครู หน้าที่ของความเป็นครู ความรับผิดชอบ มันสอดแทรก ประทับเข้ามา ในหัวใจว่า หน้าที่ของครู จะต้องให้อะไรแก่ลูกศิษย์บ้าง ต้องบังคับใจ ไม่ให้ทำอย่างที่เคยทำ นี่คือความรู้สึกของครู ที่รู้สึกว่าเราต้องเป็นตัวอย่างแก่เขา เราสอนลูกศิษย์อย่างไร เราจะต้องทำอย่างนั้น จะมาทำอะไร ตามใจชอบไม่ได้ความเป็นครูนั้นตีราคากันไม่ได้ แต่เพราะความนิยมในวัตถุที่วัดความดีไม่ดีกันที่ราคา เราจึงได้ปล่อย ให้มันค่อยๆ กัดกินหัวใจของเราไปทีละน้อยๆ จนค่าของ ความเป็นครูลดลง ผู้เป็นอาจารย์โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ในมหาวิทยาลัย จึงมีความรู้สึกแต่เพียงว่า การเป็นอาจารย์คือการมาให้วิชาความรู้ มาถึง ก็บรรยายไป สอนไป หมดชั่วโมงก็ออกจากห้อง ความสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่าง ลูกศิษย์กับ อาจารย์ ก็ค่อยๆ จางหายไป และมันก็ทำให้คุณค่า และความหมายสำคัญ ในชีวิตของครู ลดน้อย ถอยลงไปด้วย

อานิสงส์ของความเป็นครู
                
 จากชีวิตครูที่ยกตัวอย่างมานี้ จะเห็นได้ว่า ครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ควรแก่การ ภาคภูมิใจมากเพียงใด อานิสงส์ของความเป็นครูได้แก่

๑. เป็นอาชีพที่ทำให้สามารถยังชีพอยู่ได้ตามสมควร คือเลี้ยงตัวเองได้
๒. เป็นอาชีพที่ได้บุญได้กุศลยิ่งกว่าอาชีพใดๆ วิเศษกว่าอาชีพทั้งหลายในโลก อาชีพหมอยังรักษาได้แต่เพียงกาย แต่อาชีพครูรักษาได้ทั้งกายและจิต รักษาชีวิตของลูกศิษย์ทั้งชีวิต ให้ได้อยู่อย่างปลอดภัย มีสติปัญญาที่ถูกต้อง เงินเดือนที่ให้มาตีราคาไม่ได้ ประเมินไม่ได้กับงาน ที่ครูทำ
๓. เป็นอาชีพที่ได้รับการเคารพยกย่องจากบุคคลทุกชั้นวรรณะ ทุกตำแหน่งหน้าที่ เขาจะไปเป็นแม่ทัพ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นอะไรก็ตาม เขารับไหว้คนอื่น แต่เขายกมือไหว้ครูก่อน
๔. เป็นอาชีพที่มีความอยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา มีความชื่นใจปลื้มใจเมื่อเห็นศิษย์ประสบความสำเร็จ ดำเนิน ชีวิตไปในหนทางที่ถูกต้อง ศิษย์ไปอยู่ที่ใดก็ไม่ลืมครู มีความระลึกถึง อุปถัมภ์บำรุงครู ตามฐานะ ของเขา
๕. เป็นอาชีพที่ต้องอดทน เสียสละ และเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง แต่ก็ได้รับความอิ่มอกอิ่มใจ หวนคิด ขึ้นมาครั้งใด ก็มีแต่ความปีติที่ได้ทำหน้าที่อย่างคุ้มค่าของความเป็นมนุษย์



อุปสรรคที่ขวางกั้นการทำหน้าที่ของครู
สาเหตุที่ทำให้ครูไม่สามารถดำรงตนอยู่ในสถานภาพของความเป็นครู และทำหน้าที่ของครู ได้อย่าง สมบูรณ์ พอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

๑. ครูถูกใช้ให้ทำหน้าที่อื่น หรือมอบหมายงานอื่นซึ่งมิใช่หน้าที่โดยตรงให้ครูทำมากเกินไป
เป็นสิ่งที่ ดิฉันอยากจะเรียกร้อง ถ้าเราอยากจะได้ครูผู้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์กลับคืนมา ก็ควรจะให้ครู ได้มีเวลาอย่างเพียงพอ อย่าให้กิจกรรมพิเศษต่างๆ ทั้งงานจากสำนักงาน กรม กระทรวง งานท้องถิ่น งานการเมือง มาดึงเวลาของครูไป

๒. ครูเลิกบูชาอุดมคติของความเป็นครูเพราะเห็นว่าอาชีพครูด้อยกว่าอาชีพอื่น มีค่าตอบแทนหรือเกียรติยศน้อยกว่า

๓. ครูยอมให้ใจตกเป็นทาสของวัตถุเดี๋ยวนี้อำนาจวัตถุนิยมมาแรงมาก ครูกลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะทนความเย้ายวน ของวัตถุ ไม่ไหว

๔. ครูไหลไปตามกระแสค่านิยมของสังคมครูจำนวนมากเห็นดีเห็นงามตามค่านิยม สมัยใหม่ ที่วัดความมีหน้ามีตากันที่ทรัพย์สิน เงินทอง ครูจึงต้อง ดิ้นรนแสวงหาสิ่งเหล่านี้ด้วยอาชีพเสริมอื่นๆ จนละเลย ย่อหย่อนต่อการทำหน้าที่ โดยตรง ของตน

๕. ครูถูกอบายมุขครอบงำ
ผู้มีจิตใจอ่อนแอย่อมมอบตัวในทางผิด บังคับตัวเองไม่ได้ หรือคิดรวยทางลัด โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี ของความเป็นครู

ครูขาดสัปปุริสธรรมสัปปุริสธรรม คือ ธรรมะของผู้รอบรู้ ผู้เป็นบัณฑิต มี ๗ ประการ คือ

๑) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ จะทำอะไรต้องรู้จักดูว่า มีเหตุอย่างไรจึงต้องทำ ควรทำหรือไม่ควรทำอย่างไร
๒) ความเป็นผู้รู้จักผล เป็นการสอบทานว่า เมื่อมีเหตุให้ทำอย่างนั้น ทำแล้วผลจะเป็นอย่างไร ยังจะควรทำหรือไม่ ใคร่ครวญดูด้วยความรู้ สติปัญญา ประสบการณ์ ให้รอบคอบถี่ถ้วน
๓) ความเป็นผู้รู้จักตน เรามีความพร้อมที่จะทำแล้วหรือยัง ความพร้อมภายนอก เช่น กำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์ อุปกรณ์ เวลา ความพร้อมภายใน เช่น ฉันทะ ความรักและพอใจที่จะทำ ศรัทธามั่นคง เพียงพอไหม ความมานะอดทน เข้มแข็ง บากบั่น
๔) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ จะทำขนาดไหน ถึงจะพอดีพอเหมาะ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ไม่ทุ่มเทจนเกิดความเสียหาย เช่นสูญเสียทรัพย์ เจ็บป่วย หรือ ไม่มีเวลาทำการงานอย่างอื่น
๕) ความเป็นผู้รู้จักกาล รู้จักเวลาอันสมควรที่จะประกอบกิจการนั้น ดูว่ามีจังหวะพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าโอกาสยังไม่เหมาะ ก็ควรเตรียมทุกอย่างรอไว้ก่อน
๖) ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน ต้องรู้จักชุมชนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ศึกษาถึงภูมิหลังของชุมชนนั้นว่า มีทัศนคติ ความรู้ ประสบการณ์ ความชอบไม่ชอบอย่างไร เมื่อมีปัญหาเขาแก้ปัญหากันยังไง เพื่อจะได้ รู้ทางหนีทีไล่ ไม่บุ่มบ่าม
๗) ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล ดูเจาะจงลงไปที่บุคคลซึ่งเราเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะเดียวกับ การดูประชุมชน เพื่อจะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ผู้ประกอบการใดใคร่ครวญในสัปปุริสธรรมอยู่เสมอ ย่อมประกอบเหตุได้อย่างถูกต้อง เป็นผู้รู้ ความควร ไม่ควร ผลก็ย่อมถูกต้อง ครูก็เช่นกัน จะสามารถทำหน้าที่ครูได้อย่างสมบูรณ์สมความตั้งใจ

วันไหว้ครู  ประจำปีการศึกษา 2555
โรงเรียนบ้านแม่สลิดหลวงวิทยา

พานไหว้ครู ที่นักเรียนตั้งใจทำมาไหว้ครู
ลูกศิษย์  ห้อง ป.1/1  และครูอ้อม 
ทุกคนเตรียมดอกไม้ธูปเทียนมาไหว้คุณครูกันถ้วนหน้า
บรรยากาศ ณ หอประชุมก่อนเริ่มพิธีการ
บรรยากาศ ณ หอประชุมก่อนเริ่มพิธีการ

ตัวแทนนักเรียนนำพานดอกไม้ธูปเนียนมอบให้ครู  พร้อมกราบครูที่ได้อบรมสอนสั่งมา
วันนี้ไม่ได้ขึ้นไปข้างบนเวที่ เพราะมีภาระกิจต้องคอยดูแลความเรียบร้อยข้างล่าง
ตามที่ได้รับมอบหมาย
คุณครูยิ้มกันจนแก้มปริ...  ตื้นตันใจ
มีการแสดงของนักเรียนด้วยค่ะ

พานที่นักเรียนโรงเรียนบ้านแม่สลิดหลวงวิทยาตั้งใจทำมากราบครู


กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในช่วงบ่าย
ของวันไหว้ครู
เดินแถวไปรับต้นไม้  จากเรือนเพาะชำ 
เอ...คุณครูอ้อม  จะให้หนูไปปลูกที่ไหนน๊าาาาาาา.....
ช่วยกันปลูกต้นไม้ค่ะ
ช่วยกันปลูกต้นไม้  อีกหน่อยโรงเรียนของเราก็จะมีแต่ต้นไม้คอยแผ่ร่มเงาให้พวกเราค่ะ

กิจกรรมวันนี้  เด็กๆ ได้ระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ และได้แสดงความกตัญญู
และกราบขอขมาลาโทษคุณครูที่ได้ล่วงเกินไป  ทำให้ทั้งครูและนักเรียนมีความรู้สึกที่ปลื้มปิติ 
อิ่มเอมใจกันถ้วนหน้า 

ในโอกาสนี้ดิฉันก็ขอกราบคุณครูทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ที่ได้ประสาทประสิทธิ์วิชาความรู้และคอยอบรมชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติตน  การปฏิบัติงาน  การใช้ชีวิตให้แก่ดิฉัน  อีกทั้งมีทุกอย่างในวันนี้ได้เพราะคุณครูทั้งสิ้น   วันนี้ดิฉันจึงขอขอบคุณและขอกราบคุณครู 
ขอให้ครูทุกคนจงมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง  คิดสิ่งใดขอให้สมดังความปรารถนาทุกประการ